วันพุธที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2558

วิเคราะห์องค์ประกอบเรื่องสั้น หนังสือรวมเรื่องสั้นเรื่อง “หวังว่าประชาชนชนคงเข้าใจ”


วิเคราะห์องค์ประกอบเรื่องสั้นหนังสือรวมเรื่องสั้นเรื่อง “หวังว่าประชาชนชนคงเข้าใจ”

.......................................

               “หวังว่าประชาชนคงเข้าใจ” หนังสือรวมเรื่องสั้นของนักเขียนรางวัลนายอินทร์อะวอร์ด นามปากกา ทัศนาวดี จากสำนักพิมพ์ป่งใบ ฉบับพิมพ์ครั้งที่สอง เดือนมีนาคม ปีพุทธศักราช ๒๕๕๔ ประกอบไปด้วยเรื่องสั้นจำนวน ๑๓ เรื่อง ดังนี้
๑. จึงเรียนมาเพื่อทราบ
๒. ข้างหอนาฬิกา
๓. จากดอนลำดวนถึงสวนอัมพร
๔. นางละคร
๕. นอนสาหล่า
๖. สมภารระดับ ๘
๗. เสื่อม
๘. ทศนิยมไม่รู้จบ
๙. เสาหลัก
๑๐. เจ้า(หน้า)ที่
๑๑. โอ๊ะ! แพรวา
๑๒. บ่ม
๑๓. หวังว่าประชาชนคงเข้าใจ

 .............................................................................

บทวิเคราะห์เรื่องสั้น
จึงเรียนมาเพื่อทราบ
๑. โครงเรื่อง
               การวางโครงเรื่องของเรื่อง “จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบ” ใช้การวางอุปสรรคให้ตัวละครต้องหาทางเลือกในการดำเนินชีวิต โดยวางให้ตัวละครหลักมีปมปัญหาแล้วต้องหาทางออกโดยแสดงพฤติกรรมต่างๆ แล้วใช้ตัวละครเสริมในการดำเนินเรื่อง
               ตอนเริ่มเรื่อง กล่าวถึงบรรยากาศของวิถีชีวิตของผู้คนในซอยข้างวัดแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นซอยที่ไม่ต่างจากซอยในเมืองหลวงทั่วไป อีกทั้งยังกล่าวถึงบรรยากาศในการทำบุญตักบาตรของผู้คนในตอนเช้าที่ต่างมีความเร่งรีบทั้งคนที่มาใส่บาตรและพระที่มารับบาตร และในส่วนเปิดเรื่องยังได้อธิบายลักษณะของ “สาหัส” ตัวละครที่เป็นคนบ้าซึ่งตัวดำเนินเรื่องที่สำคัญอีตัวหนึ่ง
               ตอนดำเนินเรื่อง มีการดำเนินเรื่องโดยใช้พฤติกรรมของตัวละครที่แบ่งเป็นสองกลุ่มหลักคือพฤติกรรมของตัวละคร “สาหัส” ที่เป็นคนบ้า ซึ่งชอบทำตัวเป็นผู้รายงานข่าวสารให้คนในซอยทราบ และตัวละคร “แอนนา” สาวสวยจากครอบครัวยากจนจากทางเหนือ ที่เข้ามาเรียนต่อในเมืองหลวงและหวังที่จะลบภาพอดีตเก่าๆ ของการกระทำที่เคยทำพลาดมาแล้วในอดีต
               จุดวิกฤตของเรื่อง เมื่อแอนนาตัดสินใจเลือกที่จะเป็นแฟนเก็บของทนายความรุ่นราวคราวพ่อ แต่แอนนาก็ยังคบกับชายอื่นอีกเพื่อบรรเทาความเหงา โดยที่ฝ่ายชายไม่ทราบว่าหญิงสาวมีชายอื่นอยู่แล้ว ซึ่งฝ่ายชายก็ระแคะระคายเกรงว่าฝ่ายหญิงมีคนอื่นจึงต้องการหาความจริงโดยจะแอบตามดูฝ่ายหญิง
               จุดคลี่คลายของเรื่อง เมื่อชายหนุ่มที่เป็นคู่ขาของแอนนาตัดสินใจที่จะตามแอนนาไปในช่วงวันหยุด โดยเขาได้ยืมปืนมาจากเพื่อนด้วย แล้วเขาก็มีความคิดที่ว่าหากปืนที่ยืมเพื่อนมาถึงเวลาทำงานของมันก็เป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้
               ตอนจบเรื่อง เรื่องราวของแอนนาได้ทิ้งไว้เพียงการที่บอกว่าแฟนหนุ่มของแอนนาจะตามไปดูเพื่อให้รู้ความจริงเกี่ยวกับตัวแอนนานั้นมีเรื่องโกหกอะไรอยู่บ้างหรือเปล่า แล้วตัดฉากมาที่ลานวัดที่เนืองแน่นไปด้วยผู้คนที่มาทำบุญในวันเข้าพรรษา กับการรายงานข่าวของสาหัสที่เป็นเหมือนการปิดนิทานในวงเหล้าของคนขายล็อตเตอรี่ว่า “ไม่มีใครตาย ไม่มีใครตายทั้งนั้น มีแต่มรณภาพ”
               ผู้เขียนได้ทิ้งปมให้ผู้อ่านลองปะติดปะต่อเรื่องราวว่าเรื่องราวแต่ละเรื่องที่ปรากฏในเรื่องมีความสัมพันธ์กันอย่างไร และให้ผู้อ่านคิดต่อไปเองในเรื่องของแอนนาว่าจะจบลงอย่างไร แล้วในเรื่องที่สาหัสพูดเกี่ยวกับการมรณภาพนั้น ใครมรณภาพ และมรณภาพด้วยสาเหตุอะไร เกี่ยวข้องกับนิทานของคนขายล็อตเตอรี่และเรื่องราวของแอนนาหรือไม่ อย่างไร
๒. แก่นเรื่อง
               เรื่อง “จึงเรียนมาเพื่อทราบ” ผู้เขียนได้วางแก่นเรื่องที่ต้องการสะท้อนคือความเป็นจริงของชีวิตมนุษย์ที่ต้องการการอยู่รอด โดยเฉพาะการใช้ชีวิตในสังคมที่ต้องดิ้นรนสู้ชีวิตหาทางเอาตัวรอดให้ได้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง และแม้ว่าทางที่เลือกนั้นจะเป็นทางที่ผิด แต่เพื่อความอยู่รอดของตนเองก็เลือกที่จะทนทำไปโดยไม่นึกถึงความถูกต้องทางศีลธรรม และไม่สนใจว่าผู้อื่นจะคิดเห็นหรือถูกพูดถึงอย่างไร
และนอกจากนี้ผู้เขียนยังได้แทรกเรื่องราวของวิถีชีวิตของคนในปัจจุบันที่อยู่กับความเร่งรีบ โดยถ่ายทอดผ่านพฤติกรรมของตัวละครได้เป็นอย่างดี
๓. ตัวละคร
               ตัวละครเอกของเรื่องก็คือแอนนา ตัวละครรูปแบบตัวกลม สาวสวยจากภาคเหนือผู้มาชุบตัวใหม่ในเมืองหลวง ซึ่งผู้เขียนได้วางตัวละครของแอนไว้อย่างน่าสนใจ เช่นการยอมพลีกายเป็นแฟนเก็บของชายแก่เพื่อความสุขสบาย และวางตัวละครเสริมที่ทำให้พฤติกรรมของแอนดูเด่นชัดขึ้นอีก ไม่ว่าจะเป็นชายหนุ่มที่เป็นแฟนของแอน ทนายผู้คอยเลี้ยงดูแอน และหลวงน้าที่คาดว่าน่าจะเป็นกิ๊กอีกคนของแอน แต่ที่ขาดไม่ได้สำหรับเรื่องนี้และดูจะเป็นสีสันของเรื่องเป็นอย่างยิ่งก็คือตัวละครสาหัส ชายสติไม่ดีที่เป็นทั้งตัวปิดและเปิดเรื่องที่สำคัญ
๔. ฉากและสถานที่
               ฉากและบรรยายกาศในเรื่องมีลักษณะของความเป็นรูปธรรมสูง กล่าวคือผู้แต่งได้บรรยายบรรยากาศได้ใกล้เคียงกับสภาพสังคมจริงในปัจจุบัน โดยเฉพาะในสังคมเมืองที่มีชีวิตเร่งรีบ บรรยากาศที่สำคัญๆ ในเรื่องนี้ก็ได้แก่ บรรยากาศของซอยข้างวัดที่มีผู้คนอาศัยอยู่มากมาย และผู้คนที่อาศัยอยู่ก็ต่างใช้ชีวิตกันอย่างเร่งรีบ ซึ่งผู้แต่งสามารถบรรยายบรรยากาศออกมาได้อย่างเห็นภาพดีมาก

๕. มุมมอง
               ในเรื่องสั้น จึงเรียนมาเพื่อทราบ ใช้การเล่าในลักษณะของสายตาพระเจ้า คือเป็นการเล่าของตัวผู้เขียนให้เห็นภาพเหตุการณ์ต่างๆ สลับไปมา ซึ่งการเล่าเรื่องของผู้เขียนนั้นมีการแทรกความเห็นส่วนตัวลงไปในเนื้อหาด้วย เช่น การทำบุญตักบาตรในช่วงเร่งรีบนี้ ไม่จำเป็นต้องมีสมาธิหรือสำรวมจิตเพื่อแผ่กุศลผลบุญแต่อย่างใด เป็นต้น
๖. ลีลาการใช้ภาษา
               ผู้แต่งสามารถใช้ภาษาในระดับที่ถือว่าค่อยข้างมีความน่าสนใจ อีกทั้งมีการผูกเรื่องราวสองเรื่องหลักเข้ากันอย่างกลมกลืน ประกอบกับการใช้ภาษาได้อย่างรื่นไหล และวางปมให้ผู้อ่านคิดต่อได้อย่างน่าสนใจ

 .................................................................................................. 
  

ข้างหอนาฬิกา
๑. โครงเรื่อง
               การวางโครงเรื่องของเรื่อง “ข้างหอนาฬิกา” ใช้การบรรยายถึงชีวิตนักศึกษาที่ออกนอกลู่นอกทางมาเป็นตัวดำเนินเรื่องโดยควบคู่ไปกับการบอกเล่าถึงความยากลำบากของพ่อแม่ที่ต้องหาเงินเพื่อส่งลูกเรียน
               ตอนเริ่มเรื่อง เป็นการบรรยายถึงฉากของเมืองมหาสารคามที่เป็นมีสถานศึกษาหลายแห่ง มีนักศึกษาเป็นจำนวนมาก
               ตอนดำเนินเรื่อง กล่าวถึงเรื่องราวของเด็กสาวคนหนึ่งที่มาศึกษาอยู่ในจังหวัดมหาสารคาม ควบคู่กันกับการเล่าเรื่องราวความยากลำบากของผู้ปกครองที่ต้องหาเงินเพื่อส่งลูกเรียน
               จุดวิกฤตของเรื่อง เด็กสาวเริ่มเที่ยวกลางคืน ไม่สนใจถึงความยากลำบากในการหาเงินส่งเรียนของพ่อแม่
               จุดคลี่คลายของเรื่อง แม่ของเด็กสาวมาขายของที่ตลาดสด ซึ่งเป็นเวลาเดียวกันที่ลูกสาวออกมาเที่ยวกลางคืนกับแฟนหนุ่ม
               ตอนจบเรื่อง แม่โดนรถมอเตอร์ไซค์เฉี่ยวชน ซึ่งรถคันที่เฉี่ยวชนก็คือรถที่ลูกสาวของเธอซ้อนท้ายมานั่นเอง
               ผู้เขียนได้ทิ้งปมให้ผู้อ่านลองปะติดปะต่อเรื่องราวว่าเรื่องราวโดยไม่บอกตรงๆ ว่าแท้จริงแล้วรถคันที่ขับชนแม่ก็คือรถของลูกสาวผู้เป็นที่รักนั่นเอง
๒. แก่นเรื่อง
               แก่นของเรื่องคือการสะท้อนด้านมืดของชีวิตนักศึกษาที่หลงระเริงไปกับสังคมและแสงสี จนหลงลืมความยากลำบากของพ่อแม่ผู้ปกครองที่หาเงินอย่างยากลำบากเพื่อส่งลูกเรียน
๓. ตัวละคร
               ตัวละครเอกของเรื่องก็คือสุดาพร มีลักษณะเป็นตัวละครตัวกลม เป็นเด็กสาววัยรุ่นวัยเรียนที่มาศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในเมืองมหาสารคาม แต่ด้วยสภาพแวดล้อมที่ยั่วยวนและจิตใจที่ไม่หนักแน่นพอ ทำให้เธอลุ่มหลงในแสงสีจนหลงลืมความยากลำบากของพ่อแม่ที่ต้องหาเงินส่งให้เธอเรียน
               อีกหนึ่งตัวละครที่เป็นตัวละครสำคัญก็คือแม่ของสุดาพร มีลักษณะเป็นตัวละครตัวแบน ที่ยอมเหนื่อยและพร้อมจะทำทุกอย่างเพื่อให้ได้เงินมาเพื่อส่งเสียให้ลูกได้เรียนหนังสือ
               การวางบทบาทของตัวละครแม่และลูกในเรื่องนี้ ทำให้การนำเสนอเรื่องราวเป็นไปอย่างเด่นชัดมากยิ่งขึ้น แสดงให้เห็นถึงความรักของพ่อแม่ที่มีต่อลูก
 ๔. ฉากและสถานที่
               ฉากและบรรยายกาศในเรื่องเป็นการบรรยายถึงภาพของบ้านเมืองมหาสารคาม ซึ่งจัดว่าไม่ใช่เมืองใหญ่มาก มีเศรษฐกิจที่ดีขึ้นได้เพราะมีประชากรนักเรียนนักศึกษาที่เข้ามาเรียนในพื้นที่ แต่หากอยู่ในช่วงปิดเทอมมหาสารคามก็ไม่ต่างกับเมืองในชนบททั่วที่เงียบเหงา แต่ถึงแม้มหาสารคามจะประกอบไปด้วยสถานศึกษาหลายแห่ง แต่ก็เต็มไปด้วยแหล่งอบายมุข เช่น ร้านเหล้ามากมาย
               อีกหนึ่งสถานที่ที่เป็นเหมือนสัญลักษณ์ที่สำคัญของจังหวัดมหาสารคามซึ่งก็คือหอนาฬิกา ซึ่งผู้เขียนได้ดึงลักษณะเด่นของหอนาฬิกามาใช้เป็นฉากได้อย่างน่าสนใจ
๕. มุมมอง
               ในเรื่องสั้น ข้างหอนาฬิกา ใช้การเล่าในลักษณะของสายตาพระเจ้า คือเป็นการเล่าของตัวผู้เขียนให้เห็นภาพเหตุการณ์ต่างๆ สลับไปมา ระหว่างตัวละครของลูกที่พยายามหาความสุขใส่ตัว และและตัวละครของพ่อแม่ที่ตรากตรำทำงานหนักเพื่อหาเงินส่งเสียเลี้ยงดูลูก
๖. ลีลาการใช้ภาษา
               การใช้ภาษาในเรื่องนี้ค่อนข้างเข้าใจง่าย และการผูกเรื่องราวของตัวละครเข้าด้วยกัน ยิ่งทำให้เนื้อเรื่องมีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้นอีก

 ...................................................................................... 


จากดอนลำดวนถึงสวนอัมพร
๑. โครงเรื่อง
               การวางโครงเรื่องของเรื่อง “จากดอนลำดวนถึงสวนอัมพร” ใช้การวางให้ตัวละครยอมทำทุกอย่างเพื่อผู้เป็นลูก เพียงมุ่งหวังว่าลูกจะได้เรียนสูงๆ จนมาได้มีงานทำที่ดี มีฐานะที่ดี
               ตอนเริ่มเรื่อง เริ่มต้นเรื่องโดยการใช้ตอนจบของเรื่องมาเป็นประเด็น โดยเปิดเรื่องด้วยความน้อยอกน้อยใจของพ่อแม่ที่ไม่ได้ไปงานรับปริญญาของลูกสาวที่กรุงเทพ
               ตอนดำเนินเรื่อง มีการดำเนินเรื่องโดยใช้พฤติกรรมของตัวละครเตรียมชุด และเตรียมตัวที่งานรับปริญญาของลูกสาว
               จุดวิกฤตของเรื่อง พ่อแม่ยอมที่จะขายควายซึ่งเป็นคู่ทุกข์คู่ยาก เพียงหวังจะนำเงินไปใช้สำหรับงานรับปริญญาของลูกสาว
               จุดคลี่คลายของเรื่อง เมื่อลูกสาวกลับมาถึงบ้านก็มาขอเงินจากพ่อแม่เพื่อจะนำไปไว้ใช้สำหรับงานรับปริญญา แล้วก็บอกพ่อกับแม่ว่าไม่ให้ไปงานรับปริญญาของตน
               ตอนจบเรื่อง พ่อกับแม่เต็มไปด้วยความเสียใจที่ไม่มีโอกาสได้ไปสัมผัสกับความสำเร็จของลูกสาว แต่ก็จำยอมเพราะมันคือความต้องการของลูกผู้เป็นที่รัก
               ผู้เขียนได้ใช้การวางเรื่องที่แสดงได้ถึงความรักของพ่อแม่ที่มีให้ลูกอย่างเต็มเปี่ยม โดยมีการนำตอนจบมาเป็นตัวเปิดเรื่อง แล้วจึงเล่าไปตามลำดับอีกครั้ง
๒. แก่นเรื่อง
               แก่น หรือ แนวคิดหลักของเรื่องนี้อยู่ที่ความรักของพ่อแม่ที่มีต่อลูก ยอมทำทุกอย่างเพียงหวังให้ลูกได้อยู่อย่างสุขสบาย ต่อให้ตนเองทุกข์ยากแค่ไหนก็ไม่ปริปากบ่น ซึ่งความรักของพ่อแม่นั้นถือว่าเป็นความรักที่แสนบริสุทธิ์ยากที่จะหาสิ่งใดมาเปรียบเทียบได้
 ๓. ตัวละคร
               ตัวละครเอกของเรื่องก็คือพ่อกับแม่ โดยผู้แต่งได้บรรยายถึงความรักของพ่อแม่ผ่านพฤติกรรมการเตรียมความพร้อมเพื่อที่จะไปงานรับปริญญาของลูกสาว แต่สุดท้ายก็ต้องพบกับความผิดหวัง
               อีกตัวละครที่สำคัญก็คือลูกสาว ซึ่งถือว่าเป็นอีกตัวแปรที่สำคัญที่ทำให้เห็นถือความรักและความรู้สึกผิดหวังของพ่อแม่ การที่ลูกตัดสินไม่ให้พ่อแม่ไปงานรับปริญญาเพียงเพราะอับอายในความยากจน ได้สร้างความผิดหวังให้กับพ่อแม่เป็นอย่างมาก
 ๔. ฉากและสถานที่
               ฉากและบรรยายกาศในเรื่องสะท้อนภาพชีวิตของคนในชนบท โดยบรรยายภาพการใช้ชีวิตที่มีความเรียบง่าย อยู่อาศัยกับธรรมชาติของคนชนบทที่ยังห่างไกลความเจริญ ถนนยังเต็มไปด้วยฝุ่นคละคลุ้ง
๕. มุมมอง
               ในเรื่องสั้น จึงเรียนมาเพื่อทราบ ใช้การเล่าในลักษณะของสายตาพระเจ้า คือเป็นการเล่าถึงพฤติกรรมของตัวละครให้ผู้อ่านได้มองเห็นและรู้สึกอินไปกับบทบาทของตัวละคร
๖. ลีลาการใช้ภาษา
               การใช้ภาษาของผู้แต่งค่อนข้างดี เพราะสามารถพรรณภาพเหตุการณ์ต่างๆ ออกมาได้เป็นอย่างดี ทำให้ผู้อ่านสามารถเข้าใจและเข้าถึงความรู้สึกของตัวละครได้ดี

 ............................................................................. 


นางละคร
๑. โครงเรื่อง
               การวางโครงเรื่องของเรื่อง “นางละคร” ใช้การวางให้สามตัวละครหลักมีบทบาทที่แตกต่างกันออกไป และยังแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของสื่อ ซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงชีวิตของคนๆ หนึ่งไปได้ตลอดกาล
               ตอนเริ่มเรื่อง เริ่มต้นเรื่องโดยการบอกเล่าชีวิตของพลอย เด็กสาวจากต่างจังหวัดที่เข้ามาอาศัยในเมืองหลวงกับญาติของตัวเอง แต่ตัวพลอยนั้นต้องมาอยู่ในฐานะของคนใช้ในบ้าน แต่ก็อดทนสู้ต่อเพราะต้องการที่จะได้เรียนหนังสือ
               ตอนดำเนินเรื่อง การดำเนินเรื่องเป็นการเล่าแต่ละพฤติกรรมของทั้งสามตัวละครหลักคือพลอยที่อยู่ในฐานะสาวใช้ แพรี่ดาราสาวที่มีชื่อเสียแต่มีนิสัยในชีวิตจริงที่แสนร้ายกาจ และแม่ของแพรี่ซึ่งอาจจะดูโชคดีในสายตาคนอื่นที่มีลูกสาวกตัญญูแต่ในใจลึกๆก็มีปมบางอย่างซ่อนอยู่
               จุดวิกฤตของเรื่อง เกิดเหตุการณ์คลิปหลุดของดาราวัยรุ่นสาวชื่อดัง ทำร้ายแม่ โดยตบแม่คว่ำคาบันได
               จุดคลี่คลายของเรื่อง แพรี่ แม่ พลอย และผู้จัดการของแพรรี่ แถลงข่าวโดยอ้างว่าเป็นเพียงการซ้อมละคร โดยพลอยได้ถ่ายไว้เพื่อเปรียบเทียบและจะได้แสดงให้ดาราสาวเห็นว่าเธอใช้โทรศัพท์เป็นแล้ว แต่บังเอิญทำคลิปนั้นหลุดไป จึงทำให้ดาราสาวเสียชื่อเสียง
               ตอนจบเรื่อง พลอยถูกแพรี่ไล่ออกจากบ้าน มิหนำซ้ำยังถูกแม่ของตนโทรมาต่อว่าในความผิดที่ตนไม่ได้ก่อน พลอยจึงตัดสินใจกระทำการบางอย่างลงไปที่สะพานข้ามแม่น้ำ
               ผู้เขียนได้ทิ้งข้อความในตอนท้ายให้ผู้อ่านจินตนาการต่อไปเองว่าพลอยตัดสินใจทำอะไรลงไป เมื่อหลังจากที่พลอยต้องกลายเป็นผู้รับผิดชอบตอเหตุการณ์ที่ตนไม่ได้ก่อ และยังถูกตราหน้าจากสังคมว่าตนเป็นคนผิด
 ๒. แก่นเรื่อง
               แก่นของเรื่องอยู่ที่ความสำคัญของสื่อที่เข้ามามีบทบาทมากในปัจจุบัน อิทธิพลของสื่อสามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตของคนๆ หนึ่งได้อย่างสิ้นเชิง เช่น เปลี่ยนแพรี่ สาวน้อยลูกครึ่งกำพร้านิสัยไม่ดี ให้กลายเป็นดาราดังและแสนดีในคนทั่วไป และเปลี่ยนแปลงชีวิตพลอย สาวน้อยบ้านนาผู้ใสซื่อให้กลายเป็นผู้ผิดจนพลอยถูกตราหน้าโดยสังคมในความผิดที่เธอกระทำไปเพื่อช่วยเหลือใครอีกคน แต่เธอกลับโดนตราหน้าในฐานะผู้ทำผิดโดยที่ไม่ได้ตั้งใจก่อ
๓. ตัวละคร
               ตัวละครเอกทั้งสามตัวมีบทบาทที่แตกต่างกันไป
               แพรี่ เป็นดาราสาวดาวรุ่งที่มีนิสัยที่แท้จริงแสนแย่ แต่ด้วยบทบาทนางเอกที่เธอได้รับ ทำให้เธอดูดีในสายตาของคนอื่นทั่วไป
               แม่ของแพรี่ ก็มีลักษณะเหมือนแม่ทั่วไปที่รักและเป็นห่วงลูกสาว แม่ว่าหลายครั้งลูกจะทำร้ายตบตีเธอ แต่ด้วยความรักของแม่ก็ไม่อาจทำลายอนาคตของลูกสาวตนได้
               และพลอย สาวน้อยที่มาพักอาศัยอยู่กับญาติ แต่มาอยู่อาศัยในฐานะของคนใช้ ซึ่งสุดท้าย พลอยกลับกลายเป็นผู้รับกรรมจากความสัมพันระหว่างสองดาราแม่ลูก ซึ่งความผิดนั้นเป็นสิ่งที่เอไม่ได้เป็นผู้ก่อมันขึ้น
 ๔. ฉากและสถานที่
               ฉากของเรื่องนี้อาจไม่ได้รับการเน้นให้เด่นชัดเท่าใดนัก แต่ก็มีความสำคัญทำให้เรื่องสามารถดำเนินต่อไปได้ ฉากที่สำคัญก็ยกตัวอย่างเช่น ฉากการแถลงข่าว ฉากที่บ้านของดาราสาว ฉากภาพบ้านนอกบ้านเกิดของพลอย เป็นต้น
๕. มุมมอง
               ในเรื่องสั้น นางละคร ใช้การเล่าในลักษณะของตัวละครเป็นผู้เล่าเรื่องราวในมุมมองของตนเอง บวกกับการเล่ารูปแบบสายตาพระเจ้าบางส่วน ซึ่งทำให้ภาพเหตุการณ์ต่างๆ ดูชัดเจนยิ่งขึ้น
 ๖. ลีลาการใช้ภาษา
               การใช้ภาษาของผู้แต่งค่อนข้างแสดงอารมณ์ได้ดี โดยเฉพาะอารมณ์เชือดเฉือนเหยียดหยามของแพรี่ผู้เป็นดาราสาว ที่ต้องสร้างภาพว่าเป็นคนแสนดี เป็นคนกตัญญู ถึงแม้สิ่งที่เธอทำจะแสดงถึงความเป็นคนกตัญญูอยู่บ้าง แต่นั่นก็ไม่ได้แสดงออกมาจากใจที่แท้จริง ซึ่งจุดนี้ผู้เขียนสามารถแสดงภาพลักษณ์ของตัวละครออกมาได้เป็นอย่างดี

 ....................................................................................................................


นอนสาหล่า
๑. โครงเรื่อง
               การวางโครงเรื่องของเรื่อง “นอนสาหล่า” เป็นการวางโครงเรื่องที่สะท้อนถึงการกดขี่ทางเพศ โดยบอกเล้าเรื่องราวผ่านตัวละครชื่อ “สวย” เด็กสาวบ้านนอกที่ต้องเจอเรื่องราวหลายอย่างในชีวิต และได้ผ่านการทำแท้งถึงสองครั้ง
               ตอนเริ่มเรื่อง เริ่มต้นเรื่องโดยการบอกเล่าชีวิตของสวย เด็กสาวบ้านนอก ผลการเรียนดี ความประพฤติดีเป็นที่ชื่นชมของทั้งพ่อแม่ เพื่อน ครู และบุคคลรอบข้าง
               ตอนดำเนินเรื่อง สวยได้เป็นตัวแทนไปแข่งกิจกรรมการกล่อมเด็ก ซึ่งครูเป็นห่วงในเรื่องของการเดินทาง จึงไปขออนุญาตผู้ปกครองให้สวยไปพัก และฝึกซ้อมอยู่ที่บ้านของครู
               จุดวิกฤตของเรื่อง สวยถูกสามีครูซึ่งเป็นตำรวจข่มขืน แต่ไม่ได้บอกเรื่องนี้ให้ใครรู้ จนกระทั่งจบ ม.ต้นแล้ว สวยจึงตัดสินใจไปทำงานโรงงาน และเรียนต่อ กศน. ไปด้วย
               จุดคลี่คลายของเรื่อง หลังจากที่จากบ้านมาไม่นานสวยก็พบว่าตนเองท้อง และเธอก็ตัดสินใจไปทำแท้ง ตอนอายุครรภ์ได้กว่าแปดเดือนแล้ว แล้วในเวลาต่อมาเธอก็มีความรักครั้งใหม่กับชายหนุ่มที่เป็นนักมวย
               ตอนจบเรื่อง เธอตั้งท้องกับคนรักใหม่ แต่เธอก็ต้องตัดสินใจทำแท้งอีกครั้งเมื่อได้รู้ว่าชายหนุ่มมีเมียที่ถูกต้องตามกฎหมายอยู่แล้ว หลังจากนั้นเธอจึงเดินทางกลับบ้านเพื่อพักใจ แล้วเตรียมพร้อมสำหรับการเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง
               การวางบทบาทของตัวละครในเรื่องนี้ค่อนข้างบีบใจ และเห็นถึงความน่าสงสารของการเกิดมาเป็นผู้หญิง ซึ่งนับว่าค่อนข้างเสียเปรียบผู้ชายและถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้ชายบ่อยครั้ง
 ๒. แก่นเรื่อง
               แก่นของเรื่องคือการสะท้อนความไม่เท่าเทียมกันระหว่างหญิงชาย เพศหญิงมักจะถูกกดขี่จากผู้ชายไม่ด้วยทางใดก็ทางหนึ่ง และด้วยสรีระร่างกายที่บอบบางกว่าผู้ชาย บวกกับใจที่อ่อนไหวง่ายจึงมักถูกเอารัดเอาเปรียบจากเพศชายทุกยุคทุกสมัย
๓. ตัวละคร
               ตัวละครเอกคือสวย ถูกวางให้ต้องเผชิญกับหลายเหตุการณ์ในชีวิตที่ทำให้รู้สึกท้อแท้และท้อถอย แต่ในที่สุด ตัวละครก็สามารถวางปัญหาทุกอย่างแล้วเริ่มต้นใหม่ในชีวิตได้ ถึงแม้ว่าการกระทำที่เลือกนั้นแต่ดูเป็นการกระทำที่ดูโหดร้าย ผิดศีลธรรม และอาจมองว่าผิดในสายตาใครๆ แต่สำหรับชีวิตของผู้หญิงสักคนหนึ่งก็อาจจะไม่มีทางเลือกมากนัก
๔. ฉากและสถานที่
               ฉากของเรื่องนี้อาจไม่ได้รับการเน้นให้เด่นชัดเท่าใดนัก ซึ่งฉากที่สำคัญก็จะมีบ้านของครู ภาพของบ้านที่ต่างจังหวัด ภาพการใช้ชีวิตในเขตเมือง เป็นต้น
๕. มุมมอง
               ในเรื่องสั้น นอนสาหล่า ใช้การเล่าในลักษณะของสายตาพระเจ้าที่ทำให้ผู้อ่านได้เห็นพฤติกรรมของตัวละครบางอย่างได้ชัดเจนขึ้น อีกทั้งได้มองเห็นอารมณ์บีบคั้นบางประการของตัวละครอีกด้วย
๖. ลีลาการใช้ภาษา
               การใช้ภาษาของผู้แต่งค่อนข้างแสดงอารมณ์ได้ดี โดยเฉพาะการสร้างเหตุการณ์ที่บีบคั้นตัวละครให้เลือกทำในสิ่งที่ผิด แต่นั่นก็เป็นทางออกเพียงไม่กี่ทางที่ตัวละครสามารถที่จะทำได้

 ........................................................................................... 

สมภารระดับ ๘
๑. โครงเรื่อง
               โครงเรื่องของ “สมภารระดับ ๘” นั้น มีการวางโครงเรื่องเป็นปม ที่มีสาเหตุเกิดจากคนหลายๆคน ที่ต้องการในสิ่งที่เหมือนกัน ชี้ให้เห็นถึงความเสื่อมของสังคมในปัจจุบันว่าแม้แต่ในสถานศึกษาก็ไม่ปลอดภัยอีกแล้ว ความเสื่อมแทรกซึมอยู่ในทุกที่ของสังคม ไม่เว้นแต่คนที่ขึ้นชื่อว่าเป็นครูบาอาจารย์
               ตอนเริ่มเรื่อง กล่าวถึงบรรยากาศอันเงียบสงบของวัด และบรรยายถึงความหลังของผู้อำนวยการ ไฟแรงที่เพิ่งได้ตำแหน่งชำนาญการพิเศษมา แล้วพาภรรยาไปทำบุญที่วัด
               ตอนดำเนินเรื่อง เริ่มพูดถึงตัวละครหลายคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องคือ เด็กสาวมัธยมใจแตก แต่สาเหตุที่ต้องทำแบบนี้ลงไปเพราะฐานะทางบ้านยากจน และความอยากได้อยากมี เป็นเพราะความผิดพลาดของมารดา ทำให้เธอมีปมด้อยในใจตั้งแต่เด็ก ส่วนเขาถึงจะเป็นถึงผู้อำนวยการโรงเรียน แต่ก็ไม่มีจรรยาบรรณของความเป็นครูที่เหมาะสม
               จุดวิกฤตของเรื่อง โทรศัพท์เข้าและเขาตัดสินใจที่จะไม่รับ เพราะรู้ดีว่าใครเป็นคนโทรมา ซึ่งนั่นทำให้เด็กสาวผู้โทรเข้ามารู้สึกขัดเคืองเป็นอย่างมาก
               จุดคลี่คลายของเรื่อง การที่ผู้อำนวยการคนดังกล่าวได้ไปเลี้ยงสังสรรค์กับคณะ และได้พบกับเด็กสาวในความดูแลของตนโดยบังเอิญ
               ตอนจบเรื่อง ครูฝ่ายปกครองที่ขึ้นมาพูดหน้าเสาธง เรื่องการสอนคุณธรรมจริยธรรม อีกทั้งผู้อำนวยการก็มาพูดเสริมอีกด้วย ว่าจะเข้มงวดเรื่องเด็กหนีพ่อแม่เที่ยวกลางคืน เป็นสิ่งที่ไม่ดีแต่ช่างตรงข้ามกับความเป็นจริงเหลือเกิน คือครูสองคนจะเข้มงวดเรื่องคุณธรรมจริยธรรมกับเด็ก แต่ตัวเองกลับทำผิดศีลธรรมทั้งคู่ จากบทสนทนาของเด็กสาวสองคนในห้องน้ำ ซึ่งเป็นเมียน้อยของครูและผู้อำนวยการนั่นเอง
๒. แก่นเรื่อง
               เรื่อง “สมภารระดับ ๘” ผู้เขียนได้วางแก่นเรื่องที่ต้องการสะท้อนคือความเป็นจริงของชีวิตมนุษย์ที่ต้องการการอยู่รอด โดยเฉพาะการใช้ชีวิตในสังคมที่ต้องดิ้นรนสู้ชีวิตหาทางเอาตัวรอดให้ได้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง และแม้ว่าทางที่เลือกนั้นจะเป็นทางที่ผิด แต่เพื่อความอยู่รอดของตนเองก็เลือกที่จะทนทำไปโดยไม่นึกถึงความถูกต้องทางศีลธรรม และไม่สนใจว่าผู้อื่นจะคิดเห็นหรือถูกพูดถึงอย่างไร
๓. ตัวละคร
               ตัวละครเอกของเรื่องก็คือ ผู้อำนวยการโรงเรียนแห่งหนึ่ง และเด็กสาวชั้นมัธยมต้น ที่ทำในสิ่งที่ไม่คำนึงถึงคุณธรรม จริยธรรม พ่อแม่ และคำนินทาเหยียดหยามจากคนในสังคม ชายหนุ่มขอเพียงแค่ภรรยาเขาไม่รู้เรื่อง และหวังให้เธอโงเง่าแบบนี้ตลอดไป ส่วนเด็กสาวขอเพียงความสุข ที่เขาได้ปรนเปรอให้ ทั้งเงินทอง ข้าวของเครื่องใช้นำไปสู่ความเสื่อมในสังคมในที่สุด
๔. ฉากและสถานที่
               ฉากและบรรยากาศในเรื่องมีลักษณะของความเป็นรูปธรรมสูง กล่าวคือผู้แต่งได้บรรยายบรรยากาศได้ใกล้เคียงกับสภาพสังคมจริงในปัจจุบัน โดยเฉพาะในสังคมของข้าราชการครูในปัจจุบัน ที่มีข่าวไม่เว้นแต่ละวันในเรื่องนักเรียนกับครู ซึ่งเนื้อหาได้บรรยายถึงสภาพของครูตอนที่อยู่ในโรงเรียน พูดถึงเรื่องคุณธรรมจริยธรรมกรอกหูเด็กทุกวัน แต่พอตกค่ำครูก็อยู่ในที่ที่ห้ามให้เด็กไป
๕. มุมมอง
               ในเรื่องสั้น สมภารระดับ ๘ ใช้การเล่าเรื่องแบบที่อิงความจริงของปัจจุบัน โดยเล่าผ่านมุมมองของสายตาพระเจ้า โดยให้แง่คิดในหลายเรื่องและเป็นคติสอนใจ สำหรับคนที่จะจบไปเป็นครูในอนาคตว่า ไม่ควรปฏิบัติตนเช่นในเรื่องสั้นที่อ่าน แต่สมัยนี้คงหายากมากเพราะสังคมเปลี่ยนไปแล้ว
๖. ลีลาการใช้ภาษา
               ผู้แต่งมีการใช้ภาษาและลีลาของการเขียน ได้อย่างน่าอ่านและชวนติดตามมาก ภาษาตรงและเข้าใจง่าย เหมาะสำหรับการอ่านเพื่อประเทืองอารมณ์และยังสอดแทรกข้อคิดบางประการไว้ด้วย อีกจุดเด่นที่สำคัญของเรื่องสั้นเรื่องนี้อยู่ตรงการตั้งชื่อเรื่อง เพราะเป็นการนำพฤติกรรมของตัวละครไปเปรียบเทียบกับสำนวน “สมภารกินไก่วัด” แล้วตั้งชื่อเรื่องเป็น “สมภารระดับ ๘”

 ........................................................


เสื่อม
๑. โครงเรื่อง
               ในเรื่องนี้การดำเนินเรื่องเป็นไปตามลำดับ เริ่มต้นจากการก้าวสู่วงการข้าราชการครูของหญิงสาวคนหนึ่ง  โดยแรกเริ่มเธอได้รับความอนุเคราะห์เลี้ยงดูเยี่ยงบุตรีจากครูใหญ่ประจำโรงเรียนที่เธอบรรจุนั้น  ต่อมาเธอเปลี่ยนสถานะเป็นลูกสะใภ้ของครูใหญ่  จนกระทั่งครูใหญ่คนพ่อตานั้นเกษียณอายุราชการ ลูกชายของท่านก็กำลังเรียนบริหารการศึกษา  ส่วนตัวเธอเองก็พยามทำผลงานเพื่อเลื่อนระดับวิทยฐานะ โดยหวังว่าสักวันลูกชายและลูกสาวของเธอและเขาจะเรียนจบปริญญาและตามรอยเป็นข้าราชการให้สมกับหน้าตาของวงตระกูลต่อไป
๒. แก่นเรื่อง
                    ผู้แต่งต้องการเสนอให้เห็นถึงสภาพของวงการศึกษาไทยที่เสื่อมไปโดยยึดติดวัตถุนิยมและความมีชื่อเสียงมีหน้าตาในสังคมแม้ว่าความสำเร็จนั้นจะต้องแลกด้วยเงินจำนวนมหาศาลหรือแม้แต่การยอมผิดศีลธรรม  รวมถึงการไร้สำนึกในการกระทำผิดต่อจรรยาบรรวิชาชีพครู
๓. ตัวละคร
               ตัวละครที่ปรากฏมีความสมจริงมีรัก โลภ โกรธ หลง
               ครูผู้หญิงที่ก้าวเข้าสู่วงการครู  ด้วยการบรรจุเป็นข้าราชการเมื่อห้าปีก่อน  ซึ่งพ่อแม่ได้ฝากฝังให้ครูใหญ่เลี้ยงดูดุจลูกสาว  ต่อมาเธอเปลี่ยนสถานะเป็นลูกสะใภ้ของครูใหญ่  และปากกัดตีนถีบดิ้นรนทำทุกอย่างเพื่อให้ได้มาซึ่งวิทยฐานะและเพื่อลูกๆ ทั้งสองได้เรียนจบ   แต่ก่อนนั้นเธอเป็นครูใหม่ไฟแรงสอนนักเรียนให้ได้ดีมีความรู้  ต่อมาปัจจุบันความคิดเหล่านั้นกลับเลือนหายไป  เธอเอาเวลาส่วนใหญ่ไปใส่ใจผลิตผลงานเพื่อเสนอให้ผ่านต่อคณะกรรมการทั้งการยัดเงินใต้โต๊ะ อีกทั้งยอมสนองกามอารมณ์ให้ท่านๆ เซ็นให้ผลงานเธอผ่านโดยหวังว่าสามีจะไม่รู้  บวกกับต้องหาเงินมาจ่ายชำระเงินกู้ และสารพัดหนี้สินที่เธอและสามีก่อขึ้นเพื่อให้ฉากของครอบครัวเธอดูดี สมฐานะว่าครอบครัวของตนเป็นครอบครัวครูนั่นเอง
               ครูผู้ชายสามีของครูผู้หญิง ที่กำลังเรียนต่อในระดับปริญญาโทสาขาการบริหารการศึกษาซึ่งหวังจะเป็นครูใหญ่ตามรอยพ่อของเขา  เขากับภรรยาต่างก็หาเงินมาเพื่อให้อภิชาตบุตรทั้งสองได้ผลาญอย่างสุขสำราญ  และยังมีภาระต้องหาเงินมาจ่ายเงินกู้ทั้งในและนอกระบบเพียงเพราะความอย่างมีหน้าตาในสังคมและถูกคนอื่นมองว่าตนมีฐานะสมกับความเป็นครู  ทั้งที่เบื้องหลังนั้นกลวงโบ๋แทบจะไม่เหลือสมบัติอะไรเลย  สุดท้ายเขาตั้งจ่ายเงินใต้โต๊ะจำนวนมากเพื่อให้วิทยานิพนธ์ของเขาผ่านเสียที  โดยที่ไม่รู้ว่าภรรยาของตนกำลังจะเอาตัวเข้าแลกให้กับอาจารย์ท่านนี้เพื่อให้ผลงานของเธอนั้นผ่านเช่นเดียวกัน
               อาจารย์มหาวิทยาลัย  ผู้มีอำนาจในการเซ็นอนุมัติให้ผลงานครูนั้นผ่านเพื่อเลื่อนวิทยฐานะ  และมีอำนาจในการเซ็นให้นักศึกษานั้นผ่านวิทยานิพนธ์เพื่อสำเร็จการศึกษา   โดยไร้ศีลธรรมและไร้สำนึกต่อจรรยาบรรณวิชาชีพ
               ครูใหญ่ ผู้ประพฤติดีประพฤติชอบทั้งในความเป็นครูและเป็นพ่อที่ดีตลอดมา ถือว่าเป็นตัวละครตัวแบนที่มีด้านดีเพียงด้านเดียว
               ลูกสาวและลูกชายของครูชายหญิง ที่ไม่ค่อยตั้งใจเรียนหนังสือ  แต่ตั้งใจผลาญทรัพย์สินของพ่อแม่ก็ถือว่าเป็นตัวละครตัวแบนที่มีแต่ด้านไม่ดีเพียงด้านเดียว
๔. ฉากและสถานที่
                    ฉากที่ปรากฏในเรื่อง สถานที่มีได้แก่ ฉากบ้านของครูผู้ชายและครอบครัว  ฉากบ้านของอาจารย์  ฉากโรงเรียน  ฉากห้องพัก  และฉากร้านอาหาร
๕. มุมมอง
               เรื่องสั้นนี้ผู้เขียนใช้มุมมองสะท้อนความเสื่อมในวงการการศึกษา โดยเล่าผ่านมุมมองในรูปแบบสายตาพระเจ้า โดยเป็นการเล่าถึงการขาดความความยุติธรรม  ความซื่อสัตย์ต่อจรรยาบรรณวิชาชีพ  เพียงเพราะเห็นแก่เงินและความก้าวหน้าของตน
๖. ลีลาการใช้ภาษา
               ภาษาที่ใช้ในการแต่งเรื่องนี้  ใช้ภาษาเรียบง่าย  บางทีมีการใช้ข้อความที่แฝงนัยต่างๆ ให้คนอ่านได้ตีความไปเอง  และมีการใช้ภาษาที่แดกดันสังคม  กระทบกระทั่งกันบ้างด้วยความสุภาพ  อย่างไรก็ตามการดำเนินเรื่องนั้นสละสลวยชวนให้ติดตามอ่านจนจบเพียงรวดเดียว

 .................................................................................................................

ทศนิยมไม่รู้จบ
๑. โครงเรื่อง
               หญิงวัยกลางคนมีอาชีพทำนาทำไร่  นางเป็นภรรยาของรองนายก อบต. ในชุมนั้นนั้น  และมีภาระหน้าที่เลี้ยงดูหลานสาวหลานชายหนึ่งคู่  ทุกๆ ครั้งนางหวังให้ถูกหวยบ้างเพื่อจะได้ลืมตาอ้าปากอย่างใครเขาสักที ส่วนสามีนั้นวันๆ ไม่ไปไหนเอาแต่นั่งเฝ้าทีวีติดตามการทะเลาะกันในสภาอย่างไร้จุดมุ่งหมาย
๒. แก่นเรื่อง
               ผู้แต่งต้องการนำเสนอสภาพสังคมการเมืองที่ไร้ประโยชน์ต่อสังคม วันๆ นักการเมืองเอาแต่ทะเลาะเบาะแว้งแตกความสามัคคีทั้งที่เป็นคนชาติไทยชาติเดียวกัน  พร้อมกับสะท้อนความเชื่อความงมงายของชาวบ้านที่ฝากชีวิตไว้กับดวงชะตา และโชคลาภวาสนา
              
๓. ตัวละคร
               ๑) นาง  หญิงวัยกลางคนที่มีอาชีพทำไร่ทำนา  หน้าที่หลักของนางคือทำลายผักตบชวาและหอยเชอรี่ที่มีจำนวนมหาศาลผู้ซึ่งคลั่งไคล้ในการเล่นหวย  นางเคยถูกหวยเพียงงวดเดียว  แต่ส่วนมากนั้นถูกกินเรียบจนแทบหมดเนื้อหมดตัว  แต่นางก็ยังไม่ลดละความพยายามที่จะหาวิธีให้ได้มาซึ่งเลขเด็ด   เพียงเพราะหวังว่าครอบครัวของนางคงมีวาสนาได้มีชีวิตที่ดีกว่านี้
               ๒) ท่านรองนายกนายก อบต. สามีของนาง ผู้ซึ่งหลงตัวเองว่ามีความรู้ความสามารถมากกว่าภรรยา   ที่วันๆใจจดจ่ออยู่หน้าจอทีวี  คอยติดตามผลการลงมติในที่ประชุมรัฐสภา  และคอยเยาะเย้ยนางว่าบ้าหวยงมงายจนมีปากเสียงกันอยู่บ่อยครั้ง   นอกจากนี้ก็ไม่ช่วยภรรยาทำนาหรือประกอบอาชีพหารายได้เสริมใดๆ เลย
               ๓) หลานชาย  เด็กน้อยผู้มีความขยันมุมานะ  ตั้งใจเรียน  ทุกเย็นจะหอบหิ้วการบ้านกลับมาทำและจำเป็นต้องนอนดึกอยู่เสมอ
๔. ฉากและสถานที่
               ฉากและสถานที่ที่ปรากฏในเรื่องคือฉากบ้านของครอบครัวนี้

๕.  มุมมอง
               ผู้แต่งใช้กลวิธีการเล่าเรื่องเชิงเปรียบชีวิตของสามีภรรยาคู่หนึ่งอย่างชัดเจน  สามีผู้บ้าการเมืองและภรรยาผู้บ้าหวย  แต่วิธีคิดของเขาและเธอนั้นต่างกัน  สามีคิดว่าการติดตามการเมืองจะช่วยให้ตนมีความรู้สามารถคุยกับใครต่อใครได้อย่างไม่อับอาย  และมักเยาะเย้ยภรรยาด้วยการนำเอาอายุของนักการเมืองดังหลายท่านให้ภรรยานั้นแทงหวย   ส่วนภรรยานั้นมีวิธีคิดว่าการเล่นหวยอาจช่วยให้ครอบครัวมีฐานะดีขึ้นได้และก็มองว่าการเมืองเป็นเรื่องไร้สาระ  กล่าวคือทั้งสองต่างคิดว่าตนนั้นเหนือกว่าอีกฝ่ายอยู่เสมอ
๖.  ลีลาการใช้ภาษาและท่าทีของผู้แต่ง
               ภาษาที่เข้าใจง่าย  เป็นภาษาชาวบ้าน  เห็นภาพชีวิตได้อย่างชัดเจน  สะท้อนสังคมไทยได้อย่างยอดเยี่ยม  สละสลวยชวนให้ติดตามเห็นภาพบรรยากาศความวุ่นวายในสภาและช่วยให้เข้าใจความคิดของรักหวยและรักการเมืองได้มากยิ่งขึ้น   และมีการสะท้อนให้เห็นว่าครอบครัวเดียวกันควรจะรักใคร่กลมเกลียวและใส่ใจความรู้สึกของกันและกันมากกว่านี้

 ......................................................................................................................

เรื่องเสาหลัก
๑. โครงเรื่อง
               การเปิดเรื่อง ในเรื่องสั้นผู้เขียนเปิดเรื่องด้วยใจความสำคัญที่อยู่ในเรื่อง แล้วอธิบายเรื่องราวให้ดูน่าสนใจ ก่อนจะเข้าสู่เนื้อหาที่สำคัญ
               การดำเนินเรื่อง การดำเนินเรื่องมีปมปัญหา มีการต่อสู้ มีการขัดแย้ง ข้อขัดแย้งในเรื่องนั้น คือ                   ความขัดแย้งของตัวละครกับคนอื่น ได้แก่ การถกถียง ทะเลาะกันของตัวละคร และความขัดแย้งของตัวละครกับสังคม คือ ในตอนที่ว่า อีกหน่อย พี่คาดว่าประเพณีงานศพตามวิถีบ้านนอกคอกนาอย่างเราคงไม่แคล้วถูกรุกรานเช่นเดียวกัน”    
               การปิดเรื่อง เป็นการปิดเรื่องแบบการสอนใจ ให้ผู้อ่านได้ข้อคิด และนำกลับไปปรับใช้ในชีวิต ของตน เป็นการวนเรื่องให้เข้าใจในหลักสัจธรรม ตัวละครสื่อคำพูดออกมาให้ผู้อ่านเกิดอารมณ์ เหงา เศร้า และคล้อยตาม ทำให้ผู้อ่านมีอารมณ์คล้อยตามตัวละคร
๒. แก่นเรื่อง
               ผู้เขียนต้องนำเสนอให้เห็นการถึงเรื่องราวภาพสะท้อนของการใช้ชีวิตของคนชนบท วิถีชีวิต ความเชื่อ ขนบธรรมเนียมประเพณีที่มีมาของหมู่บ้านแห่งหนึ่งในภาคอีสาน ที่นับวันจะกำลังสูญหายไป
๓. ตัวละคร
               ตัวละครสำคัญในเรื่อง ได้แก่ 
                              พรชัย                    ตัวละครเอก
                              สลิด                ตัวละครดำเนินเรื่อง
                              พ่อใหญ่พิม        ผู้นำทางพิธีกรรมของหมู่บ้าน
                              เหลา                ครูของโรงเรียนบ้านหนองบัวคำ
                              ผู้ใหญ่บ้าน           ตัวละครประกอบ                                          
               ตัวละครทุกตัวผู้เขียนพยายามสื่อคำพูดจากบทสนทนาออกมาแทนภาพ  ตัวละครมีหลายบทบาท มีความซับซ้อน ทำให้ตัวละครทุกตัวดูแล้วเหมือนมีชีวิตขึ้นมาจริงๆ ซึ่งทุกตัวละครในเรื่องล้วนเป็นจุดคลายปมของเรื่องทั้งสิ้น
 ๔. ฉากและสถานที่
               ฉากและสถานที่ในเรื่องนั้นมีอยู่จริง โดยผู้แต่งได้พูดถึงฉากที่มาจากเรื่องจริงของตัวเอง โดยผ่านตัวละครทุกตัวทั้งจากการสมมุติ และความจริง เช่น โรงเรียนบ้านหนองบัวคำ บ้านพักครู เป็นต้น
๕. มุมมอง
               ผู้เขียนใช้กลวิธีทางด้านการเขียน โดยให้ตัวละครดำเนินเรื่องแทนตัวผู้เขียนเอง ให้ตัวละครเป็นผู้ดำเนินเรื่องในมุมมองของผู้อ่านเหมือนตัวผู้ที่เข้ามาอ่านได้นำตัวเองเข้ามาอยู่ในเรื่องด้วย      
๖. ลีลาการใช้ภาษาและท่าทีของผู้แต่ง
                    ผู้เขียนมีกลวิธีลีลาการใช้ภาษาเรียบง่าย มีการขึ้นต้นแบบหลายวิธี เช่น การใช้โวหารแบบบรรยาย บทสนทนา ขึ้นต้นด้วยการเกริ่นนำเข้าสู่เนื้อเรื่องทันที  มีการใช้คำถาม คำพูด ของบุคคลสำคัญ การกล่าวโน้มน้าวใจโดยการพรรณนา
                                            
............................................................................

เจ้า(หน้า)ที่
๑. โครงเรื่อง
               โครงเรื่องของ “เจ้า(หน้า)ที่” ผูกเรื่องราวใหญ่ๆอยู่สองเรื่อง คือเรื่องของคนที่ละทิ้งชนบท กับคนที่ยังอนุรักษ์นิยม นายเขียวยอมขายที่นาเพื่อจะหาทางไปในถิ่นที่เจริญ แต่ตาบัวถูกบังคับให้ขายที่นาเพราะความเจริญทางวัตถุ
               ตอนเริ่มเรื่อง กล่าวถึงบรรยากาศของลานจอดรถหน้าโลตัส กับพนักงานรักษาความปลอดภัยที่คอยยื่นบัตรให้ลูกค้า ส่วนชายชราได้แต่นั่งมองด้วยความสังเวชใจ ผืนแผ่นดินที่ติดกันแต่ช่างต่างกันราวฟ้ากับดิน
               ตอนดำเนินเรื่อง พูดถึงความแตกต่างของชีวิตตัวละคร คนรักสบายยึดติดตามสมัยนิยม กับคนหัวโบราณที่ยังติดอยู่ในโลกแห่งอดีตทุกครั้งที่หลับตา และสาวลูกชาวนาผู้เป็นหม้ายผัวตาย นำเสนอร่างกายให้ฝรั่งรุ่นราวคราวพ่อ เพื่อความสบายในการใช้ชีวิตที่เงินเป็นพระเจ้า
               จุดวิกฤตของเรื่อง ตาบัวเผลอหลับไปเพราะฤทธิ์ของเบียร์กระป๋อง จนมารู้สึกตัวอีกทีได้แต่ยืนเอ๋อฟังเขาพูดเรื่อง ความเสียหายที่ตนเลินเล่อปล่อยวัวไปขี้ใส่โรงรถห้าง พร้อมเกิดอุบัติเหตุวุ่นวายมากมาย
               จุดคลี่คลายของเรื่อง ตำรวจไกล่เกลี่ยเพื่อให้ทุกอย่างสงบลง โดยการที่ตาบัวต้องเสียค่าเสียหายจำนวนเล็กน้อย เพราะถือว่าอย่างไรที่ดินตรงห้างก็เคยเป็นของแก
               ตอนจบเรื่อง ต่างฝ่ายต่างใช้ชีวิตไปตามเส้นทางของตน มิวายต้องกระทบกระทั่งระหว่างตาบัวกับไอ้เขียว เพราะเรื่องเดิมๆ คือวัวเข้ามาในเขตห้างนั้น
๒.  แก่นเรื่อง
               เรื่อง “เจ้า(หน้า)ที่ ผู้เขียนนั้นได้วางโครงเรื่องไว้คือ การะท้อนความจริงของชีวิตชาวชนบททุกเหตุการณ์ในเรื่อง ล้วนแล้วแต่เกิดกับคนชนบท คนอีสานที่ลูกหลานในสมัยปัจจุบัน หลงลืมสิ่งที่ปู่ย่าตายายทิ้งไว้เป็นมรดกตกทอด เพื่อให้ดำรงอยู่คู่เผ่าพันธุ์ต่อไป พอความเจริญคืบคลานเข้ามา จนทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นอีสานจะจมหายไปกับวัตถุนิยมในสมัยนี้
 ๓. ตัวละคร
               ตัวละครตัวเอกของเรื่องนี้คือ พ่อใหญ่บัว เป็นตัวละครตัวกลม ที่เป็นตัวกลมเพราะถึงแม้ว่า แกจะเกลียดความเจริญทางวัตถุมากแค่ไหน แต่สุดท้ายก็ต้องเดือดร้อนเพราะแกกินเบียร์สองกระป๋องนั้น แต่ถึงอย่างไรก็สามารถเปลี่ยนใจให้แกหลงอยู่ในโลกความเจริญได้ เพราะเช้าวันต่อมาแกก็ยังนั่งเฝ้าวัวอยู่ข้างห้างเหมือนเดิม กินข้าวเหนียวผักต้มเหมือนเดิม
๔. ฉากและสถานที่
               ฉากและบรรยากาศในเรื่องนั้น ทำให้เห็นภาพได้ชัดเจนเลยว่า เมื่อความเจริญของคำว่าเมือคืบคลานเข้าใกล้ชนบท ย่อมเกิดปัญหาเหมือนเช่นตาบัว กับนายเขียวเช่นกัน ผืนนาอีกฝั่งตอกย้ำว่ามันยังเป็นของเจ้าของมันอยู่ ยังเป็นที่กินหญ้าของวัวควาย แต่เมื่อใดที่ย่างกรายเข้าใกล้เขตห้าง มันก็เหมือนอยู่คนละโลกไม่สามารถอยู่ร่วมกันได้
๕. มุมมอง
               ในเรื่องสั้นเรื่อง เจ้า(หน้า)ที่ นี้ ผู้เขียนสะท้อนความเป็นจริงของสังคมอีสานในปัจจุบันอย่างแท้จริง
๖. ลีลาการใช้ภาษา
               ผู้แต่งมีการใช้สายตาพระเจ้าในการเขียนด้วย คือสามารถผูกเรื่องทุกอย่าง หรือสารถคิดแทนตัวละครได้ ด้วยการบอกจากภาษากายที่ตัวละครแสดงออกมา

 ................................................................................... 

โอ๊ะ!   แพรวา
๑. โครงเรื่อง
               โครงเรื่องของ “โอ๊ะ! แพรวา” นั้น มีการวางโครงเรื่องให้เป็นเรื่องราวความรักของหนุ่มสาวที่เกิดขึ้นใยยุคคอมมิวนิสต์ แต่ด้วยเหตุการณ์บ้านเมืองที่ไม่สงบทำให้ทั้งคู่ไม่สมหวังกันในเรื่องความรัก
               ตอนเริ่มเรื่อง เปิดเรื่องโดยการพรรณนาถึงที่อยู่อาศัยบ้านเรือนของนายช่างซึ่งในนั้นมีบ้านพักของหนุ่มสาวสองคนรวมอยู่ด้วย   ที่ปลูกบ้านเคียงข้างกันเป็นสายหันหน้าออกสู่ถนนรับตะวันฉาย ด้านหลังเรือนพักนายช่างเป็นป่าโปร่ง มีควันไฟจากครัวลอยออกมาเป็นสัญลักษณ์แห่งการเริ่มต้นวันใหม่ ทุกวันเด็กนักเรียนสองคน เดินทางออกจากเรือนพักคนละหลัง ทั้งคู่มายืนรอรถโดยสาร เพื่อเดินทางไปโรงเรียนในตัวจังหวัด ชาวบ้านกลุ่มหนึ่ง กำลังจูงควายเดินข้ามถนนมุ่งสู่ทุ่งนา หนึ่งในนั้นหันกลับมาตะโกนหยอกล้อด้วยความคุ้นเคย  ผู้บ่าวผู้สาวคู่นี้สมกันแท้น้อ
               ตอนดำเนินเรื่อง เรื่องดำเนินไปโดยเด็กหนุ่มสาวที่จากบ้านไปเรียนในเมืองกรุง แต่ทั้งสองก็ยังคงมีความรักที่มั่นคงต่อกัน
               จุดวิกฤตของเรื่อง เมื่อ “โอ๊ะ”  แฟนหนุ่มได้เจอพายุแห่งความขัดแย้งทางการเมือง  จึงได้ไปอยู่ในอาศัยอยู่ป่า เหตุนี้จึงทำให้ความรักของทั้งคู่ลอยห่างกันออกไป เสียงโปรงลางที่เคยได้ยิน ก็จางหายออกไปทุกวัน
               จุดคลี่คลายของเรื่อง แพรวาให้การติดต่อโอ๊ะว่าจะตามเข้าไปอยู่ในป่า แต่ในท้ายที่สุด ทั้งคู่ก็ไม่ได้พบกัน แพรวาหายไปตลอดกาล
               ตอนจบเรื่อง เรื่องจบที่หญิงสาวผู้ไขปริศนาแต่หนหลัง ว่าแพรวาคือป้าของเธอที่เสียชีวิตไปเพราะถูกทหารยิงตายเมื่อสามสิบปีที่แล้ว เมื่อครั้งที่แพรวาพยายามจะเข้าป่าไปเพื่ออยู่กับโอ๊ะ
๒. แก่นเรื่อง
               เรื่อง “โอ๊ะแพรวา”  มีแก่นเรื่องคือความรักแท้ ซึ่งแม้จะมีอุปสรรคแต่ทั้งคู่ก็พยายามที่จะหาทางเพื่ออยู่ด้วยกัน จนสุดท้ายต้องแลกด้วยชีวิต
 ๓. ตัวละคร
               ตัวละครเอกของเรื่องก็คือ โอ๊ะและแพรวา สองหนุ่มสาวที่มีความรักให้กันตั้งแต่เด็ก ใช้ความพยายามที่จะให้สมรักกัน แต่สุดท้ายความตายก็พรากคนทั้งสองจากกันไปตลอดกาล
๔. ฉากและสถานที่
               ฉากที่สำคัญในเรื่องก็คือ ฉากของป่าที่โอ๊ะต้องไปอาศัยอยู่เพื่อหลับภัย ซึ่งการบรรยายของผู้เขียนทำให้เห็นถึงความรักความคิดถึงที่โอ๊ะมีต่อแพรวาอย่างเหลือล้น
๕. มุมมอง
               ในเรื่องสั้น “โอ๊ะ! แพรวา” ใช้การเล่าเรื่อง โดยเล่าผ่านมุมมองของสายตาพระเจ้า ให้มองเห็นพฤติกรรมของตัวละครที่ชัดเจนโดยเฉพาะในเรื่องความรักและความอาลัย
๖. ลีลาการใช้ภาษา
               ผู้แต่งใช้กลวิธีการเล่าเรื่องแบบสลับเหตุการณ์ไปมา ทำให้ผู้อ่านต้องคิดและปะติดปะต่อเรื่องราวด้วยตนเอง ซึ่งเป็นอีกหนึ่งความน่าสนใจในการประพันธ์ครั้งนี้

 ..........................................................................................................................

บ่ม
๑. โครงเรื่อง
               โครงเรื่องของ “บ่ม” นั้น มีการวางโครงเรื่องให้เป็นเรื่องราวของสังคมที่มีความต้องการที่มากและรวดเร็วจนเกินไป จนส่งผลให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา
               ตอนเริ่มเรื่อง เปิดเรื่องโดยการบรรยายชีวิตของครูคนหนึ่งที่มีชีวิตเหมือนครูปกติทั่วไป
               ตอนดำเนินเรื่อง เรื่องดำเนินไปโดยเล่าถึงหน้าที่ที่ครูคนนี้ต้องรับผิดชอบ และอีกหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบเพิ่มเติมคือเป็นรองประธานการจัดผ้าป่า
               จุดวิกฤตของเรื่อง อยู่ที่เหตุการณ์ที่ครูคนนี้ต้องพบเจอ คือความขัดแย้งในเรื่องการเมือง
               จุดคลี่คลายของเรื่อง เพื่อนร่วมรุ่นของครูคนดังกล่าวทำร้ายร่างกายกันจนบาดเจ็บสาหัส
               ตอนจบเรื่อง ครูกลับมาที่บ้าน และนึกย้อนทบทวนเกี่ยวกับเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นผลมากจากความต้องการที่มีไม่รู้จบและการทำอะไรที่ค่อนข้างข้ามขั้นของคนในปัจจุบัน
๒. แก่นเรื่อง
               “บ่ม” หมายถึงการทำให้สุก จะใช้กับผลละไม้ที่ต้องการเร่งให้สุกก่อนกำหนด เรื่องสั้นเรื่องนี้มีชื่อว่า “บ่ม” แก่นของเรื่องคือผู้แต่ต้องการให้ การบ่ม หรือการเร่งให้สุก
               มีการเปรียบเทียบกับสังคมไทยที่มีการบ่ม มีเรื่องการเมืองที่ไม่มีวันยุติ มีการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายอย่างเห็นได้ชัด ถึงกลับมีคนขนานนามสังคมนี้ว่า “สังคมบ่มแก๊ส”  และยังเปรียบเทียบไปถึงหญิงสาวหรือเด็กผู้หญิงในสังคมไทยที่สมันนี้ โตเร็วเกินอายุ อย่าเช่นคำที่เราเคยได้ยินมาบ่าง คือ “สาวบ่มแก๊ส”  นั้นเอง
๓. ตัวละคร
               ตัวละครเอกของเรื่องก็คือครู ซึ่งมีบทบาทเป็นทั้งตัวดำเนินเรื่องและตัวแปรที่สำคัญให้ผู้อ่านเข้าใจแนวคิดหลักของเรื่องมากยิ่งขึ้น
 ๔. ฉากและสถานที่
               ฉากที่สำคัญของเรื่องก็ประกอบด้วยสามสถานที่หลักนั่นคือ บ้านพัก บ้านของแม่ และงานเลี้ยงรวมรุ่น
๕. มุมมอง
               ในเรื่องสั้น “บ่ม” ใช้การเล่าเรื่อง โดยเล่าผ่านมุมมองของตัวละครหลัก ซึ่งเป็นทั้งผู้เล่าและแปลผลแนวความคิดต่างๆที่ผู้เขียนต้องการถ่ายทอด
๖. ลีลาการใช้ภาษา
               แต่งแบบสอดเสียดสังคมนำเสนอเรื่องราวทางการเมือง โดยใช้ตัวละครการดำเนินเรื่องประกอบ ทำให้ผู้อ่านเกิดความสนุกสนานไม่เครียด แฝงไปด้วยข้อคิดดีๆในการนำเนินชีวิตในสังคม  นำคำว่า “บ่มแก๊ส” มาเป็นตัวเล่นในเรื่อง ทำให้เรื่องมองได้หลายทาง และผู้อ่านยังได้รู้ถึงความหมายของสำนวนต่างๆไปในตัวอีกด้วย

 .......................................................................................... 

หวังว่าประชาชนคงเข้าใจ
๑. โครงเรื่อง
               การเปิดเรื่อง  เปิดเรื่องด้วยการเล่าเรื่องครอบครัวของ นกเต็นซิว ในเชิงนึกย้อนเรื่องราวในอดีตความเก่าความหลัง
               การดำเนินเรื่อง   เรื่องดำเนินไปโดยแสดงให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงความเจริญระหว่างในยุคปัจจุบันกับอดีตในที่เคยมีพ่อใหญ่แฮดและอ้ายเอกไปเหมือนกับวิทยุโทรทัศน์ให้กับเด็กได้นอนฟังเสียงเพลงเสียงนิทานจากพวกเขา ปัจจุบันได้มีการเปลี่ยนแปลง ความคิดของประชาชนรุ่นใหม่ มีทีวีเครื่องแรกเข้ามาทำให้เด็กหันไปสนใจสิ่งใหม่ ดังคำที่ว่า จะไปเอาอะไรกับเด็กรุ่นใหม่ไม่ได้หรอก วันๆ เอาแต่นัดกันเที่ยว แต่งตัวอวดกันหาเรื่องทะเลาะเบาะแว้ง ไม่สนใจศึกษาหาความรู้ ข้อความนี้เปลี่ยนความคิดจากที่อดีตเคยนัดกันไปนอนฟังเสียงเพลงค่ำคืนเดือนหงายของพ่อใหญ่แฮดกับอ้ายเอกจน ปัจจุบันสนใจแต่เรื่องละคร ดาราและสิ่งแปลกปลอมใหม่ๆๆในสังคม จนลืมวิถีชีวิตในอดีต
               การปิดเรื่อง  เรื่องจบที่เขาหมดหนทางจะทำมาหากินที่เมืองกรุงแล้วจะกลับมาบ้านมาบวชเหมือนคำแม่บอก 
๒. แก่นเรื่อง
               “เรื่องการเปลี่ยนแปลงของสังคมที่พัฒนาตามยุคสมัย มีความเจริญ มีห้างสรรพสินค้า มีเทคโนโลยีเข้ามาใหม่ ทำให้เด็กรุ่นหลังไม่รู้จักฟังนิทานไม่รู้จักวิถีชีวิตของคนรุ่นหลัง  สุดท้ายก็นำพาความเดือดร้อนมาให้กับตัวเองและสังคม
๓. ตัวละคร
               ตัวละครเอกของเรื่องก็คือ นกเต็นซิว หรือลูกชายของแม่จันทร์ คนที่ชอบไปนอนฟังเพลงในคืนเดือนหงายของพ่อใหญ่แฮดและอ้ายเอก ประกอบกับตัวละครรองลงมาคือ แม่จันทร์ แม่ของ นกเต็นซิว คนที่ถือธรรมเนียมประเพณีแต่โบราณไว้คนหนึ่ง พ่อใหญ่แฮด คนที่ชอบเล่านิทานให้เด็กๆฟัง ในค่ำคืนเดือนหงาย และอ้ายเอก คนที่ชอบร้องเพลงให้เด็กฟังในค่ำคืนเดือนหงาย
 ๔. ฉากและสถานที่
                    ฉากที่สำคัญของเรื่องก็ประกอบด้วยสามสถานที่หลักนั่นคือ สนามฟุตบอล โรงเรียน ที่ที่เคยนอนฟังเพลงและนิทาน ศาลาวัด และบ้านของแม่จันทร์
๕. มุมมอง
               ในเรื่องสั้น “บ่ม” ใช้การเล่าเรื่อง โดยเล่าผ่านมุมมองของตัวละครหลัก ซึ่งเป็นทั้งผู้เล่าและนำเสนอแนวความคิดต่างๆ ให้ผู้อ่านได้รับทราบ
๖. ลีลาการใช้ภาษา
               แต่งเล่าเรื่องลำดับเหตุการณ์จากอดีต มาถึงปัจจุบัน บรรยายให้เห็นถึงเหตุการณ์ในปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไปจากอดีต ทำให้เห็นถึงอารมณ์ความรู้สึกของตัวละครเป็นอย่างดี

รักษ์สุดา แพ่งตี่
แก้ไขล่าสุด : ๒๒ เมษายน ๒๕๕๘


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น